04 Jul 2014
Review

ภาพลอยเร้าใจ !!! รีวิว LG 42LW6500 Cinema 3D LED TV ทรงเครื่องยิ่งกว่าเย็นตาโฟ


  • lcdtvthailand

มาถึงไฮไลท์ในรีวิวครั้งนี้ซึ่งก็คือ ภาพ 3 มิติ ครับ เทคโนโลยี “Cinema 3D” คือภาพ 3 มิติที่อาศัยหลักการแบบ Polarization โดยทีวีจะแบ่งเป็นเส้นเลขคู่และเส้นเลขคี่ โดยให้ทีวีแสดงภาพเส้นคู่ 540 เส้น เข้าตาข้างหนึ่ง และส่งเส้นเลขคี่อีก 540 เส้น เข้าตาอีกข้างหนึ่ง ซึ่งแผ่นฟิลม์บนเลนส์ตาซ้ายและตาขวาของแว่นจะเป็นตัวกรองว่าเส้นเลขคู่และเลขคี่จะเข้าตาไหน 540 เส้น + 540 เส้น = 1080 เส้น ซึ่งรวมเป็น 1 เฟรมสำหรับตาทั้งสองข้าง หลักการนี้ผมเองก็เคยนำเอา 3D TV ประเภทนี้มาแสดงโชว์ในงาน BAV Show 2010 ที่โรงแรมเมอร์เคียว ฟอร์จูนเมื่อปี 2010 ที่ผ่านมา ซึ่งผลตอบรับออกมาว่า “กลุ่มแฟนๆ LCDTVTHAILAND เกือบหนึ่งร้อยชีวิตที่มาฟังบรรยายก็โหวตให้ทีวี 3D LCD ของ JVC ที่เป็น Polarzied ชนะเลิศเหนือ 3D TV แบบ Active ไปแบบค่อนข้างขาดลอยครับ” ซึ่งตอนนั้น JVC เป็นแบรนด์เดียวที่ใช้เทคโนโลยี Passive แบบ Cinema 3D ของ LG 

รีวิว 3D TV ปะทะกันตัวต่อตัว
http://www.lcdtvthailand.com/review/detail.asp?param_id=581

มาครั้งนี้ LG ได้เอาเทคโนโลยี 3D แบบ Polarized มาต่อยอดและพัฒนาให้ดีขึ้น แสดงผลภาพสีสันคมชัด ภาพไม่กระพริบ ดูนานๆแล้วไม่มึนหัว บอกได้คำเดียวว่า “ประทับใจที่สุด” ตั้งแต่เคยดู 3D TV มาเลยทีเดียวเชียว   !!! และการตั้งชื่อเทคโนโลยีนี้ว่า Cinema 3D ก็ทำให้คนทั่วไปเข้าใจหลักการได้ง่ายขึ้น ก็เพราะโรงหนัง 3 มิติก็ใช้เทคโนโลยีเช่นกันครับ หากอธิบายหลักการลึกๆบางที่ลูกค้าอาจจะงงก็เป็นได้ นี่ก็เลยเป็นที่มาของคำว่า “Cinema 3D” ที่ให้เราเข้าใจได้ง่ายขึ้น

ทดสอบกับ Cloudy with A Chance of Meatball แบบ 3D Blu-ray (Framepack)

โดยผมขอสรุปข้อดีของ Cinema 3D หลังจจาการทดสอบได้ตามนี้ครับ
1. Flicker Free
 = ภาพไม่กระพริบ เพราะเลนส์ไม่ได้เปิดๆปิดๆแบบ Active Shutter ไม่ปวดตา ดูนานๆไม่มึน 
2. High Brigtness = ภาพสว่างกว่า เพราะแว่นเปิดตลอดเวลาทั้ง 2 ข้าง
3. Comfortable Glasses = แว่น 3 มิติเบากว่า สบายกว่า ไม่ต้องใส่แบตเตอรี่ ราคาถูกกว่า 490 บาทเท่านั้น
4. No Crosstalk = ไม่มีภาพเหลื่อมซ้อนกัน ซึ่ง LG อ้างไว้แบบนี้ แต่ตอนผมลองยังมีให้เห็นนิดหน่อยครับ
5. True 120Hz = หากเปิด TruMotion 120Hz ทีวีก็จะปล่อย 120 เฟรมภาพต่อวินาทีแท้ๆ (แต่ 1 เฟรมภาพคือ เส้นเลขคู่ 540 เส้นและเส้นเลขคี่ 540 เส้นมารวมกัน) ไม่ใช่ต้องสลับ 60 เฟรมภาพให้ตาซ้ายและอีก 60 เฟรมภาพให้ตาขวาครับ
6. No Sync = ไม่ต้องมีตัว 3D Transmitter คอย Sync ภาพ 3 มิติระหว่างทีวีกับแว่น ไม่ต้องกลัว Sync หลุด
7. All 3D Playback = ก็ยังสามารถเล่นแผ่น 3 มิติที่มีอยู่ในตลาดกับเครื่องเล่น Blu-ray 3 มิติรุ่นปัจจุบันได้ทั้งหมด ไม่ต้องซื้อุปกรณ์อะไรใหม่เพิ่มเติมเลย และเล่นได้แทบทุก Format เช่นกันเช่น Framepack (3D Blu-ray), Side by Side, Top Bottom ได้ทั้งหมด !!!

ส่วนข้อด้อยก็มีเหมือนกัน แต่ก็เล็กน้อยมาก ไม่กระทบการใช้งานจริงเท่าไหร่
1. รอยหยักฟันปลา :: หากไปดูทีวีใกล้ๆตอน “ไม่ใส่แว่น” ในขณะเปิดภาพ 3 มิติ ก็มีรอยหยักฟันปลาของภาพ เพราะเส้นเลขคู่และเส้นเลขคี่มันเหลื่อมกันอยู่ (540 เส้น + 540 เส้น) แต่หากใส่แว่นเข้าไปไม่มีปัญหา ภาพลอยมีมิติและไม่เห็นรอยหยักฟันปลาแล้ว และดูไม่รู้เลยว่า Resolution ถูกแบ่งครึ่งให้ตาซ้ายและตาขวา (ซึ่งเป็นข้อจำกัดของ 3D แบบ Polarized – Line by Line) เพราะภาพที่ดูผ่านแว่นมันดูสมบูรณ์
2. มุมมองในการรับชมใน “แนวตั้ง” อาจจะยังไม่สมบูรณ์นัก มิติภาพไม่แหล่ม (คงต้องรอพัฒนา) หากไปทดสอบในห้างให้มั่นใจว่าทีวีอยู่ในระดับสายตาเรานะครับ

ปรับ 3D Viewpoint ได้ด้วยนะครับ ว่าจะชอบภาพ “ลึกๆ” ก็ปรับเลื่อนไปทางซ้ายเยอะๆ
หากชอบภาพ “ลอยๆ” ก็ปรับไปทางขวาเยอะๆ
นี่เลยครับ แว่น 3D Polarized น้ำหนักเบา ใส่สบายตา ไม่ต้อง Sync ไม่ต้องกลัวกระพริบ
ไม่ต้องชาร์จแบตเตอรี่ ที่สำคัญแถมมาให้ 4 อัน
เผื่อท่านไหนมีกิ๊กเยอะ เอ้ย !!! สมาชิกในครอบครัวเยอะ
การใส่แว่นนั้นฟิลม์ที่เป็นเลนส์มี “ขนาดใหญ่พอ” ที่จะ “ครอบคลุม” ทั้งดวงตาของเรา 
(อยากเป็นนายแบบแว่นตากันแดด แต่ขอซ้อมด้วยแว่น 3 มิติก่อน อิอิ)
มุมมองการรับชมกว้างมาก และท่านั่งพิสดารทั้งหลายเช่น เอนคอ ตะแคงดู นอนดูก็ยังได้ครับ
มิติภาพผมยกให้ “ดีที่สุด” หากเทียบกับรุ่นที่เคยรีวิวมา (30/3/2011) 

เกร็ดความรู้
ในขณะที่แว่น Polarized ของโรงหนัง Dolby 3D เช่นเครือ Major Cineplex ผมขอ “ติ” อย่างแรง เลนส์อันกระปิ๋วเดียว (เมื่อครึงปีแรกของ 2010 นะครับ ส่วนครึ่งปีหลังปรับปรุงแล้ว !!!) แถมเคลือบ Polarized ไม่ทั่วถึงด้านล่างเลนส์อีก ทำให้การรับชมภาพ 3 มิติมันไม่ครอบคลุมทั่วดวงตาต้องนั่งตรงๆไม่กระดุกดิกหรือทำสายตาเริกรั่ก มิเช่นนั้นสายตาจะหลุดไปที่ตำแหน่งของเลนส์ที่ไม่ได้เคลือบ Polarized เอาไว้ ภาพมันก็จะเกิดเหลื่อมซ้อนเลยทันทีซะงั้น น่ารำคาญใจมาก หากให้เปรียบเทียบกับแว่น Active Shutter ก็คล้ายๆกับอาการ Sync หลุดนี่แหละครับ

มาดู 3D แบบ Side by Side กันบ้าง เป็น Content ฟุตบอลโลกรอบชิงปีล่าสุด
1. เปิดออกมาภาพจะแบ่งเป็นหน้าต่างซ้ายและขวา
2. ให้กดปุ่ม 3D บนรีโมท และเลือกเป็นแบบ Side by Side
3. ภาพก็จะรวมร่างกันเป็น 3 มิติ ใส่แว่นและรับชมได้เลยครับ
เปลี่ยนภาพ 2 มิติเป็น 3 มิติได้ด้วยนะครับ !!!
เกมส์ PS3 (PS Move) ธรรมดาๆอย่าง Sports Champion ผมก็แปลงเป็น 3 มิติครับ

สรุปเรื่องภาพ 3 มิติ
ไม่ว่าเราจะเรียกเทคโนโลยีนี้ว่า “Cinema 3D” ซึ่งเป็นชื่อทาง “การตลาด” ที่ LG ตั้งขึ้นมาเอง หรือจะเรียก “3D แบบ Polarized” ที่เป็นชื่อเรียกตาม “ศัพท์เทคนิค” ในวงการทีวีสามมิติ ผมก็กล้าใช้คำว่า “ภาพที่ได้มันสุดยอดจริงๆ” ผมแนะนำให้ท่านต้องไปสัมผัสด้วยตาตัวเองตามร้านค้าต่างๆซักครั้ง เพราะมันกลบจุดด้อยของ 3D แบบ Active ได้เกือบทั้งหมด เช่นการกระพริบของภาพ เราไม่ต้องกังวลเรื่องการคุมแสงจากหลอดไฟอีกต่อไป ภาพมีความนิ่ง ไม่เต้น ไม่ต้องกลัวหลอดไฟ ไม่จำเป็นต้องดูในห้องที่มืดสนิท ภาพสบายตามาก มิติภาพหลุดลอยกว่า 3D แบบ Active Shutter อย่างเห็นได้ชัด ซึ่งอันนี้ผมได้ดูเปรียบเทียบกันแบบตัวต่อตัวเลย !!! โดยผมลองเดินถอยไปดูแบบไกลๆซัก 8-10 เมตรก็ยิ่งลอยมีมิติเข้าไปใหญ่ แว่นมีน้ำหนักเบาใส่สบาย ดูนานๆแล้วอาการมึนหัวน้อยมาก !!!

การรับชมภาพ 3 มิติจาก Content 3D แท้ๆเช่นจากแผ่น 3D Blu-ray (Framepack), Side by Side, Top Bottom จะเห็นผลของภาพที่มีมิติอย่างชัดเจนมาก ส่วนการ Convert 2D เป็น 3D ก็ได้ผลอยู่ในระดับที่น่าพอใจ อาจจะไม่ลอยเด่นชัดเท่า แต่ท่านสามารถเลือกปรับ “ระดับความมีมิติของภาพ” หรือ “Depth” เพิ่มขึ้นไปอีกได้ครับ ยิ่งระดับสูงมิติภาพยิ่งดีขึ้น ลอยเด่นชัดขึ้น ซึ่งอาจจะมีดูหลอกตาไปบ้าง และจะแลกมากับอาการมึนหัวที่จะตามมาเล็กน้อย แต่โดยรวมแล้วคุณภาพของภาพ 3 มิติอยู่ในระดับ “น่าทึ่ง” และ ดูแล้ว “สบายตาที่สุด” เท่าที่ผมเคยรับชมทีวีสามมิติมาเลยครับ ของแบบนี้ผมอยากแนะนำให้ท่านไปใส่แว่น “ดูด้วยตาตัวเอง” ในห้างหรือร้านค้ากันจริงๆครับ เพราะความรู้สึกนี้มันต้องสัมผัสด้วยตัวเองเท่านั้น !!!