31 Dec 2013
Review

Let The SKYFALL !!! รีวิว B&W 684 Theatre 5.1


  • ชานม
เริ่มจากคู่หน้า คือ 684 ลักษณะลำโพงแบบตั้งพื้น หรือ Floorstanding
จากรูป ติดตั้งพร้อมหน้ากากผ้า ที่ปิดทับเต็มแผงหน้าทั้งหมด
เมื่อถอดหน้ากากผ้าออก จะเปิดเผยให้เห็นหน้าตาที่แท้จริง

ติดตั้งไดรเวอร์ 1″ Aluminium Tweeter และ 6.5″ Woven Kevlar Cone ทำหน้าที่เป็น Bass/Midrange Driver และ Bass Driver อย่างละชุด ตามลักษณะลำโพงแบบ 2 ทางครึ่ง ด้านหน้าติดตั้ง Flowport อยู่บริเวณส่วนล่าง แผงหน้าที่เห็นเป็นสีดำนั้น เป็นวัสดุสังเคราะห์ผิวเรียบ ไม่มีลวดลาย ยืดหยุ่นเล็กน้อยคล้ายยางแข็ง ซึ่งลักษณะการใช้งานวัสดุสังเคราะห์ปิดทับแผงหน้าแบบนี้ น่าจะคุ้นเคยกันดีจาก 600 Series (รวมถึง 300 Series) ในอดีต ตัวตู้บริเวณอื่นนอกจากแผงหน้า ปิดผิวด้วยไวนีลลายไม้โดยรอบ แม้มิใช่ผิวไม้แท้ แต่งานตัวตู้ก็ประณีตเรียบร้อยดีมาก ขอบตู้เน้นเหลี่ยมมุมชัดเจน ลักษณะตู้จึงเป็นทรงสี่เหลี่ยมตรงไปตรงมา ไม่มีการลบมุมใดๆ ให้ความรู้สึกเรียบง่าย ไม่อาศัยความซับซ้อนของรูปทรงให้ดูหวือหวา ทว่าโดดเด่นทันสมัยจากความเรียบนี่แหละ

ด้านหลังของ 684 ที่ส่วนบนของตัวตู้ จะเห็น Flowport อีกจุดหนึ่ง

เท่ากับว่ารุ่น 684 นี้ เป็นลำโพงตู้เปิดที่ติดตั้ง Flowport ในการจูนเสียงความถี่ต่ำถึง 2 จุด ทั้งด้านหน้าและหลังตู้ลำโพง แน่นอนว่าผลกระทบกับการใช้งานจริงในประเด็นตำแหน่งตั้งวาง และเมื่อทำการปรับจูนเสียงความถี่ต่ำด้วย Foam plug จะแตกต่างกันไป สำหรับท่อเปิดทั้ง 2 จุดนี้ (รายละเอียดจะกล่าวถึงอีกครั้งช่วงรายงานการทดสอบครับ)

ตำแหน่งติดตั้งขั้วต่อสายลำโพงของ 684 เยื้องลงมาอยู่ส่วนล่าง เกือบถึงพื้น
ลักษณะเป็นไบดิ้งโพสต์แบบไบไวร์ ชุบทอง โครงสร้างแข็งแรง ดูดี

หมายเหตุ: จากรูป ขั้วต่อสายลำโพงของ 684 นี้ ทีมงานทำการถอดจัมเปอร์โลหะที่เชื่อมระหว่างขั้วบน (HF) และขั้วล่าง (LF) ออกไป ซึ่งปกติจะมีจัมเปอร์ติดตั้งมากับตัวลำโพงแต่แรก ทว่าให้ถอดออกกรณีเชื่อมต่อสายลำโพงแบบไบไวร์ (หรือไบแอมป์)

อุปกรณ์อื่นๆ ที่ผู้ผลิตให้มาในกล่อง นอกจากคู่มือการใช้งานแล้ว ยังมีอุปกรณ์เสริมอย่าง Foam plug (จุกโฟมอุดท่อเบส) และอุปกรณ์รองรับฐานลำโพง เพิ่มความมั่นคงในการตั้งวาง มีทั้งแบบเดือยแหลม (Spike) และแบบยางสังเคราะห์ทรงกลมผ่าครึ่ง… เพื่อให้ง่ายในการเรียกอุปกรณ์รองรับทั้ง 2 แบบ ต่อไปผมขอเรียกรวมๆ ว่า Spike แล้วกันนะครับ

ทั้งนี้ถึงแม้จะเรียกว่าอุปกรณ์เสริม (Accessories) แต่ทั้ง Foam plug และ Spike ก็มีความสำคัญในแง่ของการเสริมศักยภาพในขั้นตอนใช้งานจริงอยู่มาก รายละเอียดจะทยอยกล่าวถึงต่อไป

หมายเหตุ:
– Spike จะมีให้มาเฉพาะลำโพงรุ่นตั้งพื้น และลำโพงซับวูฟเฟอร์เท่านั้น
 ซึ่งการจะใช้งาน Spike กับลำโพงตั้งพื้น ต้องทำการติดตั้ง “ฐานลำโพง” ก่อน (ดูรายละเอียดช่วงถัดไป) กล่าวคือ สำหรับลำโพงตั้งพื้น ไม่สามารถติดตั้ง Spike เข้ากับตัวตู้ลำโพงโดยตรง ผิดกับลำโพงซับวูฟเฟอร์ที่สามารถติดตั้ง Spike ด้านล่างของตัวตู้ลำโพงได้เลย
– ส่วน Foam plug จะให้มาตามจำนวนและขนาด Flow port ของลำโพงรุ่นนั้นๆ ไม่ว่ารุ่นตั้งพื้น หรือวางหิ้ง ในกรณีของ 684 ที่มี Flow port 2 ช่อง จะมี Foam plug 2 อัน ต่อข้าง ส่วนรุ่นอื่นๆ ให้มา 1 อัน ต่อข้าง Foam plug นี้ สามารถปรับรูปแบบให้มีลักษณะอุดเต็มท่อ หรืออุดแล้วมีรูเปิดเพียงบางส่วนก็ได้ ซึ่งจะมีประโยชน์ในแง่ของการกำหนดระดับปรับจูนอัตราการตอบสนองความถี่ต่ำของลำโพง ให้เหมาะสมกับสภาพการใช้งาน

ลำโพงตั้งพื้นในซีรี่ส์ 600 ก่อนการใช้งาน จำเป็นต้องติดตั้ง “ฐานลำโพง” ดังรูป ทั้งนี้ถึงแม้ฐานดังกล่าวจะมีโครงสร้างที่เรียบง่าย ดูไม่ซับซ้อนอะไรนัก คือ เป็นแผ่นไม้ MDF ธรรมดา แต่ก็มีความจำเป็น เพื่อให้ลำโพงมีเสถียรภาพ ซึ่งเมื่อติดตั้งแล้วจะทำหน้าที่เป็นฐานรองรับตัวตู้ลำโพง พร้อมกับเป็นจุดยึด Spike ไปด้วยในตัว ต่อจากนั้นจึงปรับระดับ Spike เพิ่มความมั่นคงในการตั้งวางได้

ถัดจาก 684 ก็เป็นคิวของ 685 ลำโพงวางขาตั้ง 1 ใน 2 รุ่น ของซีรี่ส์ 600
ซิสเต็มนี้รับหน้าที่เป็นลำโพงเซอร์ราวด์คุณภาพสูง
ติดตั้งไดรเวอร์ 1″ Aluminium Tweeter และ 6.5″ Woven Kevlar Cone
ขนาดไดรเวอร์ Bass/Midrange เป็นขนาดเดียวกับ 684 ส่วน Flowport จุดเดียว ติดตั้งด้านหน้าบริเวณส่วนล่าง
ด้านหลังของ 685 ส่วนบนติดตั้งสลักโลหะสำหรับแขวนผนังมาให้เสร็จสรรพ
ขั้วต่อสายลำโพงไบดิ้งโพสต์ ชุบทอง แบบไบไวร์ ดูขึงขังแข็งแรง ลักษณะเช่นเดียวกับลำโพงอื่นๆ ในซีรี่ส์

หมายเหตุ: ในรูปนี้จะเห็นจัมเปอร์โลหะที่เชื่อมขั้วลำโพงบน (HF) และล่าง (LF) เข้าด้วยกัน จัมเปอร์โลหะนี้ต้องใส่คาไว้หากเชื่อมต่อสายลำโพงแบบซิงเกิลไวร์ แต่ให้เอาออกเมื่อเชื่อมต่อสายลำโพงแบบไบไวร์