31 Dec 2013
Review

Let The SKYFALL !!! รีวิว B&W 684 Theatre 5.1


  • ชานม

Setup – การติดตั้ง

หากจะกล่าวถึงคุณภาพเสียงของลำโพง คงไม่พ้นเรื่องของการเซ็ตอัพ เพราะเป็นปัจจัยที่ส่งผลกับประเด็นการถ่ายทอดความเป็นดนตรีของลำโพงโดยตรง ทั้งนี้ผมจะอ้างอิงการเซ็ตอัพจากสภาพแวดล้อม 2 ลักษณะเช่นเคย คือ การใช้งาน “ลำลอง” ในห้องรับแขก และที่ทางเฉพาะอย่าง “ห้องโฮมเธียเตอร์” เพื่อให้ครอบคลุมการใช้งานจริงตาม “ไลฟ์สไตล์” ที่แตกต่างกันของผู้ใช้

เริ่มจากการใช้งานแบบลำลองในห้องรับแขกก่อน ซึ่งน่าจะตรงกับการใช้งานในบ้าน รวมถึงคอนโด ของหลายๆ ท่าน อย่างที่ทราบว่าลักษณะสภาพแวดล้อมแบบนี้มีข้อจำกัดในเรื่องของพื้นที่ตั้งวาง ระยะในการจัดวางลำโพงเหมือนจะถูกกำหนดโดยสภาพพื้นที่ (จากเหตุผลเรื่องของความเหมาะสมลงตัวทางสายตา ไม่เกะกะขวางทาง ฯลฯ) เมื่อไม่สามารถขยับปรับเปลี่ยนตำแหน่งลำโพงเพื่อความลงตัวทางเสียง (ตามอุดมคติ) ได้มากนัก ย่อมกระทบกับผลลัพธ์ คือ การถ่ายทอดเสียงที่เที่ยงตรงอยู่บ้าง แต่ถึงกระนั้นทุกปัญหามีทางออกเสมอครับ…

ปัจจัยหนึ่งที่กระทบกับคุณภาพเสียงของลำโพง คงไม่พ้นระยะห่างจากผนัง และยิ่งถ้าเป็นลำโพงขนาดใหญ่ มีระยะตั้งวางประชั้นชิดติดผนังมาก (เกินไป) เพียงใด จะสร้างปัญหากับดุลเสียง (Tonal Balance) มากเท่านั้น กล่าวคือ เสียงความถี่ต่ำบางช่วงจะบวมล้ำย่านอื่นขึ้นมา ฟังเผินๆ เหมือนปริมาณเบสเยอะดี (แน่น??) แต่เป็นปริมาณที่ด้อยคุณภาพ เนื่องจากล้ำกระทบลดทอนการรับรู้เสียงย่านอื่น จะมีก็แต่ความคลุมเครือ อึงคนึง ขาดความชัดเจน รายละเอียดปลีกย่อยขาดหาย จับโฟกัสมิได้ หากเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น คงต้องถามให้แน่ใจก่อนว่า เป็นปัญหาที่ลำโพง หรือเพราะปัจจัยแวดล้อมรอบตัว…? จากนั้นควรแก้ไขหรือไม่ อย่างไร ก็สุดแท้แต่ละท่านจะพิจารณา…

684 แม้มิใช่ลำโพงตั้งพื้นขนาดใหญ่ แต่มิใช่ขนาดที่เล็กนัก (ใหญ่กว่า Paradigm Monitor 7 เล็กน้อย แต่เล็กว่า Polk Audio RTi A7 ระดับหนึ่ง) การจัดวางย่อมได้รับผลกระทบกับดุลเสียงในประเด็นที่กล่าวไปข้างต้นบ้าง ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ (ที่ผ่านมา กับสภาพแวดล้อมเดียวกันนี้ ลำโพงคู่อื่นๆ ก็ได้รับผลกระทบแบบเดียวกัน มากบ้าง น้อยบ้าง) แต่ถึงกระนั้น เมื่อผู้ผลิตได้ให้อุปกรณ์เสริม คือ Foam plug มาด้วย หน้าที่ของมันจะได้ใช้ประโยชน์ก็ตอนนี้แหละ… และนี่ก็คือ การแก้ปัญหาดุลเสียงจากสภาพแวดล้อม แนวทางแรก ครับ

Paradigm Monitor 7
Polk Audio RTi A7

B&W 684 กับการแก้ปัญหาผลกระทบจากสภาพแวดล้อมด้วย Foam plug

ดังที่เรียนไปก่อนหน้านี้ว่า 684 มี Flowport 2 จุด ที่แปลกกว่าลำโพงคู่อื่นๆ คือมีทั้ง ด้านหน้า และ ด้านหลัง เช่นเดียวกับ Foam plug ที่ให้มาตามจำนวน ถ้างั้นแนวทางการใช้งานควรจะเป็นเช่นไร แน่นอนว่าการใช้งาน Foam plug กับ Flowport ด้านหน้า-ด้านหลัง-หรือทั้งคู่ ย่อมให้ผลลัพธ์แตกต่างกัน (แต่ก็สัมพันธ์กัน)

ข้อมูลที่ทาง B&W ให้มาในคู่มือการใช้งาน 684 ค่อนข้างชัดเจน คือ เป็นการอ้างอิงผลลัพธ์จากการใช้ Foam plug คร่าวๆ ภายใต้การตอบสนองความถี่ของลำโพงที่ไม่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอก (Reflections & Resonance Mode) ในการประเมินใช้งานจริง (In-room response) เมื่อนำ Foam plug มาลดทอนปัญหาเบสบวมจากสภาพแวดล้อมในห้องทั่วๆ ไป ผลลัพธ์อาจจะแตกต่างออกไป… จากผลการทดลองในสภาพแวดล้อมทดสอบ พบว่า การอุด Flowport ด้านหน้า จะส่งผลในแง่การจำกัดลดทอนย่านตอบสนองความถี่ต่ำของลำโพงได้ชัดเจนกว่าการอุดด้านหลัง กล่าวคือ ปริมาณเบสโดยรวมจะลดลงไปมากกว่า และเป็นการลดลงในอัตราต่อเนื่องสัมพันธ์กัน (ไม่เน้นย่านใดเป็นพิเศษ)

ส่วนการอุด Flowport ด้านหลัง แม้ว่าจะส่งผลลดทอนความถี่ต่ำเฉพาะย่าน ช่วงราว 70 ~ 120Hz แต่ก็เป็นช่วงที่มักได้รับผลกระทบจากการวางลำโพงชิดผนังหลังจนโด่งล้ำ การอุด Flowport ด้านหลัง จึงไม่ลดทอนศักยภาพการตอบสนองย่านความถี่ต่ำลึกของลำโพงลงไปมากเท่ากับการอุด Flowport ด้านหน้า ช่วยให้ไม่กระทบกับกรณีรับฟังแบบ pure 2-channel (เมื่อไม่ต้องการพึ่งซับวูฟเฟอร์)

หากพิจารณาจากศักยภาพพื้นฐานของ 684 นั้น แม้มิใช่ลำโพงที่เน้นเบสอึกทึกครึกโครมนัก และ Foam plug ก็ลดทอนศักยภาพในประเด็นนี้ลงไปเล็กน้อย แต่ก็ถือว่ายังเป็นปริมาณที่เพียงพอกับการรับฟังดนตรีหลากหลายแนวโดยลำพังโดยไม่ต้องพึ่งตัวช่วยอย่างซับวูฟเฟอร์ ถึงกระนั้นอย่าลืมว่าซิสเต็มนี้ ยังมีลำโพงซับวูฟเฟอร์ ASW610 อยู่ด้วย คงมิต้องกังวลเรื่องความถี่ต่ำแต่อย่างใด การรับฟังแบบ 2.1 จะเสริมย่านต่ำลึก และส่วนที่ถูกลดทอนโดย Foam plug ให้สมบูรณ์ได้

การใช้ Foam plug อุด Flowport เพื่อลดทอนปัญหาดุลเสียง (อาการเบสบวมจากสภาพการตั้งวาง) นั้น สามารถกำหนดระดับได้ด้วยลักษณะการอุดแบบบางส่วน หรืออุดเต็มท่อ และเสริมผลลัพธ์ด้วยการอุดทั้ง 2 ท่อ การเลือกใช้ขึ้นกับระดับของปัญหา แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีลิมิต คือ วิธีการนี้มิอาจให้ผลลัพธ์ที่สมบูรณ์แบบ กรณีตั้งวางลำโพงชิดผนังหลัง หรือใก้ลกับมุมห้องมากเกินไป แม้ปัญหาจะถูกลดทอนลงไป แต่เบสอาจยังคงบวมอยู่บ้าง ตรงนี้อาจต้องพิจารณาขยับตำแหน่งลำโพงให้ห่างออกจากผนัง (และมุมห้อง) มากขึ้น อันจะช่วยคลี่คลายปัญหาลงได้อีกระดับหนึ่ง ดุลเสียงโดยรวมก็จะดีขึ้นไปด้วย

ระยะจัดวางลำโพง (ขั้นต่ำ) สำหรับ B&W 684 (และ 683) – ที่ผู้ผลิตแนะนำ

สรุปการใช้ Foam plug สำหรับเคสห้องรับแขก ผมจะอุดเต็ม Flowport ของ 684 ทั้งหน้าและหลัง (ผลจากการที่ลำโพงขวา อยู่ใกล้มุมห้องมากไปนิด) และเสริมด้วยการขยับลำโพงขึ้นหน้ามาอีกเล็กน้อย ระยะด้านหลังลำโพงห่างจากผนังหลัง ราว 47 ซม. แล้วโท-อินอีกนิดหน่อย แน่นอนว่าตัวลำโพงจะล้ำระนาบชั้นวางขึ้นมาราว 20 ซม. ผลพลอยได้คือมิติเสียงจะดีขึ้นด้วย แม้ดูเกะกะขวางทางสัญจรไปหน่อย (ค่อนข้างอันตราย จากการถูกชนกระแทก) แต่ก็ใช้ชั่วคราวแค่ช่วงเวลาทดสอบครับ ส่วนท่านใดจะตั้งวางแบบนี้กับที่บ้านบ้าง ก็ขออนุมัติจาก ผบ. ที่บ้านให้ดีก่อน เด๋วจะกลายเป็นจุดประเด็นขัดแย้งป่าว (ฮา) ผลลัพธ์ตรงนี้ อาจจะยังไม่เพอร์เฟ็กต์ที่สุด เนื่องด้วยข้อจำกัดของสภาพพื้นที่ แต่น่าจะให้ความลงตัว จนสามารถรับรู้ศักยภาพอันยอดเยี่ยมของลำโพงตั้งพื้นคู่นี้ได้แล้ว

ส่วน 685 และ HTM62 ที่รับหน้าที่ลำโพงเซอร์ราวด์ และเซ็นเตอร์นั้น ด้วยลักษณะลำโพงที่เป็นลำโพงวางหิ้ง อัตราการตอบสนองความถี่ต่ำไม่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยแวดล้อม อย่างตำแหน่งตั้งวางมากอย่างมีนัยสำคัญนัก ในเคสห้องรับแขกนี้ จึงไม่จำเป็นต้องใช้ Foam plug อุด Flowport ครับ

มิใช่เฉพาะแต่ลำโพงหลักเท่านั้นที่อาจได้รับผลกระทบจากสภาพแวดล้อม ซับวูฟเฟอร์เองก็ไม่ต่างกัน ทว่าก็มีแนวทางวิธีการแก้ปัญหาให้เลือกได้ต่างออกไป ในเคสห้องรับแขก ตำแหน่งมุมห้องดังกล่าวอาจจะสร้างปัญหาอยู่บ้าง (จากรูป ASW608 อยู่ด้านหลังลำโพง 684 ข้างขวา) การจะขยับซ้ายขวาทำไม่ได้ดังใจ เพราะอยู่ในซอก จะขึ้นหน้าก็ทำไม่ได้เพราะจะกระชั้นชิดกับประตูทางเข้ามากเกินไป ตำแหน่งที่สองที่ให้ผลดีสำหรับดุลเสียง (สำหรับเคสนี้) คือ ย้ายไปฝั่งซ้าย แต่ตู้ลำโพงจะล้ำบันไดอยู่ หากลงบันไดไม่ระวังคงได้สะดุดหัวทิ่มกันบ้าง ทางออกอีกทาง หากจะวางไว้ฝั่งขวา คือ การกำหนดระดับ BASS EXTENSION และ EQ ซึ่งทำได้ยืดหยุ่นทีเดียว ในเคสนี้กำหนด BASS EXTENSION ที่ C และ EQ A จะช่วยลดทอนปัญหาดุลเสียงจากตำแหน่งตั้งวางได้ครับ แม้ย่านลึกๆ จะทอนลงไปบ้าง

แนวทางการใช้ Foam plug และ BASS EXTENSION/EQ แก้ปัญหาดุลเสียงของลำโพง อันเกิดจากข้อจำกัดทางสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยในห้องรับแขกนี้ แม้ไม่สมบูรณ์ที่สุด แต่ก็ช่วยลดทอนปัญหา แน่นอนว่าผลลัพธ์ย่อมจะดีกว่าไม่ได้ทำการเซ็ตอัพใดๆ เลย อย่างไรก็ดี ยังมีอีกแนวทางหนึ่ง นอกเหนือจากการใช้ Foam plug ซึ่งให้ผลลัพธ์ที่น่าสนใจ และสามารถดำเนินการได้ง่าย เพราะไม่มีขั้นตอนดำเนินการซับซ้อน แนวทางที่ 2 คือ การใช้ระบบ Speaker Auto Calibration (Room EQ) ฟีเจอร์มาตรฐานของ AV Receiver ปัจจุบัน ซึ่งในรุ่นสูงๆ นั้น มีความเที่ยงตรงในการปรับแก้ดุลเสียงของลำโพงตั้งแต่ลำโพงหลัก ไปจนถึงซับวูฟเฟอร์ (สำหรับรุ่นที่รองรับ) จากปัญหาถูกบิดเบือนโดยสภาพแวดล้อมได้

หากเลือกแนวทางที่ 2 นี้ ไม่จำเป็นต้องใช้ Foam plug ครับ ผมไม่ขอลงรายละเอียดการใช้งานระบบ Auto Calibration ในบททดสอบนี้ เนื่องจากได้ให้ข้อมูลไปบ้างแล้วในบททดสอบ AVR ซึ่งแต่ละรุ่นมีแนวทาง และผลลัพธ์ที่แตกต่างกันไป