31 Dec 2013
Review

Let The SKYFALL !!! รีวิว B&W 684 Theatre 5.1


  • ชานม

ลำโพงสำคัญ ขาดมิได้สำหรับซิสเต็มโฮมเธียเตอร์ คือ ลำโพงเซ็นเตอร์ HTM62 เป็นผู้ที่รับหน้าที่นี้ ถือเป็นลำโพงเซ็นเตอร์ลำดับที่ 2 ของซีรี่ส์ ขนาดตัวตู้เล็กกว่า HTM61 เล็กน้อย

ติดตั้งไดรเวอร์ 1″ Aluminium Tweeter ขนาบข้างด้วย 5″ Woven Kevlar Cone Bass/Midrange 1 คู่
Flowport อยู่ด้านหลัง ติดตั้งบริเวณกึ่งกลาง ซึ่งเป็นตำแหน่งตรงกับด้านหลังของทวีตเตอร์พอดี
ส่วนขั้วต่อสายลำโพงไบไวร์ ถูกโยกไปอยู่ฝั่งซ้าย วางในแนวตะแคง
อีกหนึ่งอุปกรณ์เพิ่มอรรถรสให้กับระบบโฮมเธียเตอร์ รับผิดชอบเอฟเฟ็กต์ย่านเสียงความถี่ต่ำ
คือ ASW610 ลำโพงแอ็คทีฟซับวูฟเฟอร์

วูฟเฟอร์ขนาด 10″ แบบช่วงชักยาว อาศัยเทคนิคผสมการใช้วัสดุระหว่าง Paper (กระดาษ) กับ Kavlar ตัวตู้ลำโพงออกแบบเป็นตู้ปิด ติดตั้งภาคขยาย ICEpower ขนาด 200 วัตต์ ตัวที่ส่งมาทดสอบตัวตู้เป็นสีดำด้าน ผมไม่แน่ใจวัสดุผิวนัก คือ ดูเหมือนไม่ใช่ไวนีล (ที่ใช้กับลำโพงอื่นๆ ในชุด) มันไม่มีลายแบบ Black Ash ทว่าดูคล้ายการทำสีพ่นแบบด้านมากกว่า แม้ดูออกจะเรียบง่าย แต่ให้ความเก๋ที่แฝงความหรูไว้ ผิวที่ได้นั้นเรียบลื่น ไม่มีลวดลายหยาบกร้านใดๆ ตามขอบมุมไร้รอยต่อ งานประกอบเนี้ยบมาก แต่อาจต้องดูแลรักษากันหน่อย เพื่อให้ดูสวยเนี้ยบแบบนี้ไปนานๆ อย่างขอบมุมตู้ที่เน้นเหลี่ยมมุมชัดเจน แบบเดียวกับลำโพงหลักอื่นๆ ในซีรี่ส์ ต้องระมัดระวังมุมแหลมๆ นี้ จะเป็นจุดที่เกิดการกระทบกระทั่งกับพื้น ไม้กวาด หรือแม้แต่เท้าของผู้คนที่เดินผ่านไปมา

การใช้งานสามารถติดตั้งรองรับตู้ลำโพงด้วย Spike 2 แบบ เช่นเดียวกับรุ่นลำโพงตั้งพื้น
แต่ทำการติดตั้งที่ตัวตู้ลำโพงโดยตรง (ไม่ต้องมีฐานแยกต่างหาก)

ด้านหลัง จะเห็นช่องต่ออินพุตต่างๆ ให้มาทั้งแบบ Low-level (LINE) และ High-level (SPEAKER)
แต่ที่ดูเยอะกว่าซับวูฟเฟอร์ทั่วไป คือ ปุ่มปรับเซ็ตที่มีมากมาย ดูแอดวานซ์เกินราคาค่าตัวไปมาก

เช่นเดียวกับแอ็คทีฟซับวูฟเฟอร์อื่นๆ ที่สามารถกำหนดเปิด-ปิด (Standby) การทำงานอัตโนมัติได้ โดยเลื่อนสวิทช์ไปที่ตำแหน่ง Auto (ควรมั่นใจว่าดำเนินการหลังจากเชื่อมต่อสายต่างๆ เรียบร้อยแล้ว) ในส่วนของการปรับตั้งระดับเสียง หรือ VOLUME ที่ให้มา 2 ชุดนั้น สำหรับ Low-level (LINE) และ High-level แยกปรับอิสระ (แต่จากคู่มือของ B&W ก็มิได้แนะนำให้เชื่อมต่อทั้ง 2 อินพุต พร้อมกันครับ) การปรับเซ็ตมาตรฐานอย่างการกำหนดจุดตัดความถี่ Crossover สามารถบายพาสได้ โดยกำหนดสวิทช์ LOW-PASS FILTER ไปที่ตำแหน่ง OUT (เมื่อใช้งานกับระบบโฮมเธียเตอร์) และที่พิเศษสำหรับซับวูฟเฟอร์รุ่นนี้ คือ สามารถปรับระดับ BASS EXTENSION หรือเรนจ์การตอบสนองความถี่ย่านต่ำ รวมถึง EQ ได้ เพื่อชดเชยดุลเสียงหากได้รับผลกระทบจากปัจจัยแวดล้อม เหล่านี้จะช่วยให้การติดตั้งลำโพงซับวูฟเฟอร์กระทำได้อย่างยืดหยุ่น สำหรับรุ่นนี้ขั้วต่อสายไฟเป็นแบบ 2 ขา หัวเลข 8

หมายเหตุ: การใช้งานซับวูฟเฟอร์ร่วมกับระบบโฮมเธียเตอร์ ซึ่งอาศัยการกำหนดจุดตัดความถี่จาก AVR แล้วเชื่อมต่อสัญญาณมาทาง LINE Input (Mono) แนะนำให้ทำการ “บายพาส” ครอสโอเวอร์ภายในซับวูฟเฟอร์ โดยในรุ่น ASW610XP, ASW610 และ ASW608 ของ B&W ให้กำหนดปรับสวิทช์ LOW-PASS FILTER ไปที่ตำแหน่ง “OUT”