31 Dec 2013
Review

The avant-garde of AVENTAGE !!! รีวิว Yamaha RX-A820 4K Ready Network AV Receiver


  • ชานม

Features – ลูกเล่น

การควบคุม AVR ผ่านอุปกรณ์ Smart Devices เป็นลูกเล่นที่มาพร้อมกับความสามารถด้านระบบเครือข่ายของซิสเต็มเครื่องเสียงและโฮมเธียเตอร์ในปัจจุบัน ซึ่งด้วยความยืดหยุ่นของจอระบบสัมผัส รูปทรงกะทัดรัด ที่เชื่อมต่อผ่านระบบเครือข่ายไร้สาย มีส่วนเพิ่มศักยภาพในแง่ของอุปกรณ์ควบคุมสั่งการได้อย่างดียิ่ง

การควบคุม Yamaha AVR ด้วยอุปกรณ์ Smart Devices สามารถกระทำได้เพียงติดตั้งแอพที่ชื่อว่า AV Controller App มีทั้งเวอร์ชั่น iOS และ Android ดาวน์โหลดฟรีได้ที่ Apple Store และ Play Store

อินเทอร์เฟสของ Yamaha AV Controller App ครอบคลุมการใช้งานตั้งแต่ เปิด/ปิดเครื่อง ปรับวอลลุ่ม เปลี่ยนอินพุต เปลี่ยน Listenning/Scene Mode แต่ที่เด็ดสุด คือ การสตรีมมิ่งเพลงจาก Android Devices เครื่องที่ใช้ควบคุมอยู่นั้น ไปฟังกับ Yamaha AVR ได้โดยตรง ผ่านแอพเดียวกันนี่แหละ ซึ่งมี AVR น้อยยี่ห้อนักที่จะทำได้แบบนี้ ส่วนถ้าเป็น iDevices สามารถสตรีมมิ่งผ่าน AirPlay ได้ครับ

หมายเหตุ: การเข้าใช้งาน Network Functions อย่าง Media Server, AirPlay และ Internet Radio ผ่านรีโมตคอนโทรล ให้กดปุ่ม NET ซ้ำๆ ไล่ลำดับไป แต่ถ้าเข้าใช้งานผ่าน Yamaha AV Controller App จะแยกหมวดเหล่านี้ไว้ให้เลือกเลย

การรับฟังเพลงผ่าน USB Storage Devices และ DLNA Media Server รองรับฟอร์แม็ตสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น WAV, FLAC, MP3, WMA, MPEG-4 AAC ที่มาตรฐานสูงสุด 24-bit/96kHz
หรือจะเชื่อมต่อ iPod/iPhone/iPad แบบ “Digital Direct” ทาง USB
หรือเชื่อมต่อผ่าน Ethernet/Wi-Fi ด้วย “AirPlay” ก็ได้ทันที

จากครั้งก่อนในการทดสอบ Internet Radio ร่วมกับ A1010 พบว่า ถึงแม้เซ็ตอัพใช้งานในส่วนของ DLNA Media Server (Network) ได้แล้ว แต่ติดปัญหาไม่สามารถใช้งาน Internet Radio ได้ในทันที (อาจต้องมีการตั้งค่าบางอย่างเพิ่มเติม) ทว่าในรุ่น A820 ไม่พบปัญหานี้อีกต่อไป เรียกว่าพอเชื่อมต่อกับ Modem Router ปุ๊บก็สามารถใช้งาน Internet Radio ได้ทันที ไม่ต้องดำเนินการตั้งค่าเน็ตเวิร์กใดๆ เพิ่มเติม (ผลจาก DHCP) ซึ่งก็เป็นดังเช่น AVR เครื่องอื่นๆ

เช่นเคยว่า AVR ของ Yamaha ส่วนใหญ่ มาพร้อมกับระบบช่วยเหลือในการติดตั้งระบบลำโพง และชดเชยสภาพแวดล้อม ที่เรียกว่า YPAO หรือ (Yamaha Parametric Acoustics Optimizer) ซึ่งถ้าหากเป็นรุ่นหลังๆ มา จะเห็น R.S.C. หรือ Reflected Sound Control ต่อท้าย YPAO มาด้วย ในนัยว่าสามารถชดเชยแก้ไขในส่วนของ Early reflections นั่นเอง

การใช้งานก็เช่นเคย (อีกละ) ว่าไม่มีอะไรที่ซับซ้อนหรือยุ่งยากจนเกินไป เพราะระบบพยายามทำให้ง่ายจากรูปแบบ “กึ่งอัตโนมัติ” ซึ่งภายหลังติดตั้ง จัดวางลำโพงรอบทิศทาง เชื่อมต่ออุปกรณ์ในระบบโฮมเธียเตอร์ครบถ้วน ปรับตั้งปุ่มปรับซับวูฟเฟอร์ตามรูป เปิดเครื่อง แล้วนำ YPAO Microphone ติดตั้งเข้ากับขาตั้งกล้อง (ขาตั้ง Tri-pod ผู้ใช้ต้องจัดหามาเอง) จัดวางที่ตำแหน่งนั่งฟังหลัก โดยให้ระดับความสูงของ Mic อยู่ระดับเดียวกับหู (เมื่อนั่งฟัง)

แล้วเชื่อมต่อ Mic เข้ากับ AVR ที่เปิดเครื่องรอไว้ สังเกตที่จอภาพทีวี จะปรากฏหน้าจอดังรูป หากจุดนั่งฟังหลักมีตำแหน่งเดียว สามารถเลือกหัวข้อ Measure เพื่อให้ระบบดำเนินการตรวจวัดและตั้งค่าอัตโนมัติได้เลย แต่ถ้าหากจุดนั่งฟังหลักมีหลายตำแหน่ง ก็ให้กำหนดในส่วนของ Multi Position เพิ่มเติม ระบบจะดำเนินการตรวจวัดเสียงไปตามจำนวนจุดที่ต้องการ เพื่อเกลี่ยผลลัพธ์ให้ใกล้เคียงกัน ระหว่างนี้ให้สังเกตหน้าจอโดยตลอดว่า ระบบให้ดำเนินขั้นตอนอะไรต่อไป และบางครั้งอาจมีการแจ้ง “Error” หากระบบพบความผิดพลาด ไม่ว่าจากขั้นตอนติดตั้ง (เช่น เสียบสายลำโพงผิด กลับเฟส ฯลฯ) หรือสภาพแวดล้อม (เช่น มีเสียงดังรบกวนมากเกินไป ซึ่งห้องฟังที่ดีควรต้องเงียบ และตัวผู้ใช้อย่ายืน เดินเกะกะขวางลำโพง หรือพูดคุยขณะระบบทำการตรวจวัด) ให้ทำการตรวจสอบ และแก้ไขเสีย เมื่อดำเนินการครบถ้วนกระบวนความ ก็ถือว่าเสร็จสิ้นขั้นตอนเบื้องต้น สามารถเริ่มใช้งานได้เลยครับ

กรณีที่ต้องการตรวจสอบค่าลำโพงที่ระบบตั้งให้ สามารถดูจากผล Result ภายหลังขั้นตอนการตรวจวัดของระบบ YPAO หรือดูจาก ON SCREEN Setup Menu >> Setup >> Speaker >> Manual Setup