31 Dec 2013
Review

The avant-garde of AVENTAGE !!! รีวิว Yamaha RX-A820 4K Ready Network AV Receiver


  • ชานม

Picture – ภาพ

ดังที่เกริ่นไปว่า A820 มาพร้อมวิดีโอสเกลเลอร์ แน่นอนว่าประโยชน์ก็เพื่อปรับปรุงคุณภาพการรับชมวิดีโอคอนเทนต์ที่มิใช่มาตรฐาน HD ให้ดูดีขึ้น และรวมไปถึงการอัพสเกลความละเอียดสูงถึงระดับ 4K

การใช้งาน Video Scaler เพียงกำหนด Video Mode เป็น Processing ทั้งนี้การตั้งค่าเปิด หรือปิด การใช้งาน Video Processing จะส่งผลกับทุกอินพุตแหล่งโปรแกรม ไม่สามารถกำหนดแยกสำหรับแต่ละอินพุตได้

ผลลัพธ์การใช้งาน Video Scaler จาก A820 ร่วมกับคอนเทนต์วิดีโอ Standard Definition ทั่วไป เช่น DVD และ Cable TV พบว่ามีศักยภาพคล้ายคลึงกับรุ่น A1010 กล่าวคือ จะเน้นเพิ่มความคมชัดของภาพเป็นหลัก มากกว่าจะลดทอนสัญญาณรบกวน หรือ artifacts ที่พบได้จากการบีบอัดข้อมูลของคอนเทนต์ความละเอียดต่ำ ผลลัพธ์ของภาพจะคล้ายๆ การ apply ผลจากการเพิ่มระดับ Sharpness หรือ Edge Enhancement ขึ้นเล็กน้อย ภาพโดยรวมจะได้รายละเอียด ความคมชัดมากขึ้น แต่ก็อาจจะเน้นน้อยส์บางอย่างที่แฝงอยู่ในคอนเทนต์คุณภาพต่ำให้เห็นชัดขึ้นมาบางส่วน ทั้งนี้การที่ Yamaha มิได้ให้พารามิเตอร์ย่อยในส่วนของการตั้งค่าวิดีโอสเกลเลอร์ เพื่อใช้ในการกำหนดรูปแบบชดเชยจุดบกพร่องของแหล่งโปรแกรมวิดีโอ จึงไม่สามารถปรับเปลี่ยนอะไรเพิ่มเติมได้ แต่ถึงแม้ความยืดหยุ่นในจุดนี้จะไม่มาก แต่ก็ช่วยให้ดูไม่ซับซ้อน แลเป็นมิตรกับผู้ใช้ทั่วไปมากกว่า และผลลัพธ์ที่ได้ ถือว่าส่งผลไปในทางที่ดีขึ้นครับ

หมายเหตุ:
– หัวข้อ Video: Video Mode นั้น ตัวเลือก Processing คือ เปิดใช้งานวิดีโอสเกลเลอร์ ส่วน Direct คือ Pass-through (สัญญาณวิดีโอจากแหล่งโปรแกรมจะผ่านไปยังทีวีโดยตรง ไม่ผ่านการประมวลผลใดๆ จาก AVR) ทั้งนี้หากต้องการให้ระบบแสดงข้อมูล OSD (On Screen Display) ต่างๆ เช่น แสดงระดับวอลลุ่ม หรือชื่ออินพุต บนหน้าจอทีวี ต้องกำหนด Video Mode เป็น Direct
– การประเมินศํกยภาพจากระบบ Video Scaler ของ A820 นี้ เป็นการอ้างอิงเฉพาะที่มาตรฐานวิดีโอความละเอียด 1080p เท่านั้น เนื่องจากจอภาพทดสอบ ยังไม่รองรับมาตรฐาน 4K

Sound – เสียง

นับว่า A820 เป็น AVR ที่มีสไตล์เสียงโดดเด่น ตั้งแต่ยังมิได้ตั้งค่าเซ็ตอัพใดๆ เลย เรียกว่าแกะออกจากกล่อง เสียบสาย เปิดเครื่อง แล้วฟังเสียงกันเลยน่าจะแฮปปี้กับสิ่งที่ได้ยินระดับหนึ่งแล้ว (ถ้าพ้นระยะเบิร์น พัฒนาการก็จะดีขึ้นไปอีกเล็กน้อย) นับเป็นข้อดีสำหรับท่านที่อาจจะยังกังวลกับการตั้งค่าระบบที่ซับซ้อน ว่าถ้าเซ็ตอัพไม่ดี ไม่ถูกขั้นตอนแล้วจะผิดหวังกับเสียง จึงลดความเสี่ยงเรื่องของตัวแปรการเซ็ตอัพที่อาจกระทำได้ไม่ลงตัวได้ดี ไปจนถึงผู้ที่ชื่นชอบการรับฟังในแบบ “PURE Audio” แม้ในขณะที่ระบบอาจจะยังไม่พร้อมที่สุด คือ ยังมีข้อจำกัด และปัญหาจากปัจจัยแวดล้อมอยู่บ้าง ซึ่งปัจจัยดังกล่าวไม่รบกวนจนลดทอนความเด่นจากสไตล์เสียงของ A820 ลงไปมากนัก จุดนี้แตกต่างจาก AVR บางยี่ห้อ ที่ต้องดำเนินการปรับตั้งโดยละเอียด และพิถีพิถันในเรื่องของการแม็ตชิ่งเสียก่อน จึงจะแสดงศักยภาพออกมาได้อย่างเต็มที่

สิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้ คือ เสียงที่เปิดกระจ่าง กระฉับกระเฉง ไม่มีอึมครึมทึมทึบ ซึ่งแนวนี้ก็เป็นดังเช่นที่พบได้กับ Yamaha AVR รุ่นอื่นๆ แต่กับ A820 ความโดดเด่นนี้มาพร้อมกับน้ำเสียงที่น่าฟังขึ้นด้วย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมาตรฐานที่สูงขึ้นของ AVENTAGE ประเด็นที่ว่าจะนำมาชมภาพยนตร์หรือฟังเพลงจะลดความห่างลงจนไม่เป็นปัญหาอีกต่อไป กับการใช้งานร่วมกับลำโพงอย่าง B&W 685, Paradigm Monitor 7, Polk Audio RTi A7 และ Quad 22L พบว่ายังคงให้น้ำเสียงดังที่กล่าวไปข้างต้นได้ชัดเจน แต่มิได้หมายความว่าจุดเด่นนี้จะช่วยให้ละเลยการเซ็ตอัพระบบไปแต่อย่างใด หากต้องการความสมบูรณ์ ขั้นตอนนี้ ยังมีความจำเป็นต้องดำเนินการอย่างยิ่งยวดครับ

จุดนี้ YPAO-R.S.C. ให้ความช่วยเหลือได้ดี ลูกเล่นการชดเชยความสมบูรณ์ในจุดละเอียดที่ซับซ้อนในบางประเด็น อาจไม่ถึงกับโดดเด่นสมบูรณ์เป็นที่สุด แต่ก็ให้ความลงตัวได้ดี ในส่วนของการตั้งค่าลำโพงพื้นฐานที่จำเป็นอย่าง Distance Delay และ Level Balance เที่ยงตรงตามที่คาดหวังไว้ (ผลการอ้างอิงจากสภาพแวดล้อมทดสอบ) ในส่วนของ Bass Crossover (Bass Management) สำหรับลำโพงที่กำหนดขนาดเป็น Small ยังคงใช้วิธีอ้างอิงจุดตัดความถี่ค่าเดียวเช่นเดิม ซึ่งความยืดหยุ่นอาจจะน้อยกว่าการกำหนดจุดตัดแบบ multi-point ทว่าถ้าประยุกต์ร่วมกับ Parametric EQ และตัวเลือก Extra Bass (สำหรับลำโพงที่กำหนดค่าเป็น Large) ก็ยังคงให้ความยืดหยุ่น และลงตัวได้ดี

Parametric EQ หรือ PEQ ในโหมด Flat มีส่วนช่วยลดทอนผลกระทบดุลเสียงจากปัญหาสภาพแวดล้อมได้ดี แม้ว่าจะยังมิได้ครอบคลุมไปถึงการปรับแก้ดุลเสียงของซับวูฟเฟอร์ อันเกิดจากผลกระทบด้าน Resonance Mode ทว่าระบบ YPAO มีส่วนช่วยด้านการชดเชยทางเฟสสำหรับซับวูฟเฟอร์ จึงมีความต่อเนื่องกลมกลืนกับลำโพงหลักมากขึ้น การตัดสินใจใช้งาน PEQ หรือไม่นั้น อาจทดลองเปรียบเทียบระหว่าง PEQ-Flat ซึ่งระบบจะทำการปรับดุลเสียงกับลำโพงทุกแชนเนล, หรือ PEQ-Front ระบบจะปรับดุลเสียงกับลำโพงทุกแชนเนล เว้นแต่คู่หน้า, หรือ Through ไม่มีการ apply EQ ใดๆ เพื่อประเมินว่าแบบใดให้ผลลัพธ์ที่ลงตัวกว่าในสภาพใช้งานจริง และควรดำเนินการหลังจากเบิร์นอินระบบ จนเสียงนิ่งดีแล้ว

Enhancer หรือระบบชดเชยคุณภาพภาพเสียงสำหรับคอนเทนต์คุณภาพต่ำนั้น พบว่าให้ผลลัพธ์ที่น่าสนใจ เท่าที่ลองเปิดใช้งานกับคอนเทนต์คุณภาพต่ำ ยกตัวอย่าง เสียงจากเคเบิลทีวี พบว่าให้ผลลัพธ์ไปในทางที่ดีขึ้น ซึ่งระบบชดเชยทำนองนี้ ปัจจุบันพบได้กับ AVR หลายๆ ยี่ห้อ พื้นฐานเป็นการชดเชยเปลี่ยนแปลงดุลเสียงที่ขาดหายไปจากขั้นตอนบีบอัดข้อมูล ซึ่งให้ผลลัพธ์ดีมากน้อยแตกต่างกันไป สำหรับ Enhancer ของ Yamaha ให้ผลลัพธ์ที่ดีโดยสร้างผลกระทบน้อย บ่อยครั้งเปิดใช้งานแล้วให้ผลลัพธ์ที่น่าฟังขึ้น แต่ดังที่เรียนไปว่า จะเหมาะใช้งานกับคอนเทนต์คุณภาพต่ำเป็นหลักครับ (คอนเทนต์คุณภาพสูง บันทึกมาดี ไม่มีความจำเป็นต้องชดเชย เพราะไม่ได้ขาดอะไร)

หมายเหตุ: Enhancer Mode จะถูกเปิดใช้งานเป็นค่า Default กับการรับฟังอินพุต Tuner, USB/iPod, Media Server, AirPlay, Internet Radio หากต้องการปิดใช้งาน ให้กดปุ่ม Enhancer ที่รีโมตคอนโทรล หรือเลือก Listening Mode แบบ Straight ก็ได้ (ระบบเสียงเสริมต่างๆ จะถูกปิดไป แต่ยังคง apply ในส่วนของ PEQ และ Bass management) ทั้งนี้หากรับฟังคอนเทนต์ที่มีระดับ Sampling Rate สูงกว่า 48kHz จะไม่สามารถ apply Enhancer Mode ได้ (จะถูก Disable ไปเอง โดยอัตโนมัติ)

ตอนลองที่ออฟฟิศ LCDTVTHAIALND/HDPLAYERTHAILAND ส่วนใหญ่ก็ทดสอบกับเพลงจาก USB/NET, CD/SACD และภาพยนตร์ BD เป็นหลัก แต่ในขณะยกกลับมาทดสอบใช้งานที่บ้าน กว่า 80% ของระยะเวลาใช้งาน จะหมดไปกับการชมเคเบิลทีวีเสียส่วนใหญ่ ฟีเจอร์อย่าง Standby Through และ Eco Mode ใช้ประโยชน์ได้ดีมาก กับประเด็นการประหยัดพลังงาน ซึ่งผลการรับฟังในสถานะ Eco Mode – On พบว่าไม่ได้ส่งผลกระทบลดทอนคุณภาพเสียงลงไปมากมายอย่างมีนัยสำคัญ ถ้าไม่ได้ต้องการระดับเสียงดังจนบ้านแตก ส่วนใหญ่การใช้งานตามที่กล่าวไปนั้น ผมจะเปิดใช้งาน Eco Mode เอาไว้ หากต้องการฟังแบบซีเรียสจริงๆ ค่อยสลับกลับเป็นโหมดปกติ

Conclusion – สรุป

น้องเล็ก (ณ เวลานี้) จากซีรี่ส์ AVENTAGE ที่ให้ภาพลักษณ์โดดเด่นด้านคุณภาพเสียงไม่แพ้รุ่นใหญ่ แม้คุณสมบัติบางด้านจะลดทอนลงเมื่อเทียบกับรุ่นเลข 4 ตัว ทว่าความแตกต่างด้านผลลัพธ์ในแง่คุณภาพเสียงนั้น ถือว่าห่างกันไม่มากเลย กับค่าตัวราว 3 หมื่น เมื่อพิจารณาจากสไตล์เสียง ฟีเจอร์อันครบครัน ไปจนถึงประเด็นการรองรับอนาคตจากระบบภาพ 4K นับว่าให้ความคุ้มค่าในระดับสูง

คะแนน

ดีไซน์ (Design)
8.00
ภาพ 2 มิติ ก่อนปรับภาพ (2D Picture Pre-Calibrated)
8.50
เสียง (Sound)
8.25
ลูกเล่น (Features)
8.75
การเชื่อมต่อ (Connectivity)
8.50
ความคุ้มค่า (Value)
8.75
คะแนนตัดสิน (Total)
8.50

คะแนน Yamaha RX-A820 4K Ready Network AV Receiver

8.5

หมายเหตุประกอบการให้คะแนน
– รูปลักษณ์ตัวถังรวมถึงส่วนประกอบภายในก้ำกึ่งระหว่าง AVENTAGE กับ RX-V Series คุณสมบัติหลายจุดที่พบได้กับ AVENTAGE รุ่นใหญ่ อาจมาไม่ครบ แต่จุดสำคัญยังมีให้เห็นอยู่ อันเป็นการยกระดับมาตรฐาน AVR ระดับราคานี้ได้อย่างโดดเด่น
– วิดีโอสเกลเลอร์ช่วยปรับปรุงคุณภาพการรับชมวิดีโอคอนเทนต์ระดับ SD ได้ดี รองรับการอัพสเกลถึงระดับ 4K รวมถึงการ Pass-through 4K Video สำหรับการใช้งานในอนาคต
– ตั้งแต่เบื้องแรกที่ยังมิได้ทำการเซ็ตอัพใดๆ ก็ให้เสียงได้รื่นหู น่าฟังดีทีเดียว สไตล์เสียงสดใส แต่หาได้แห้งบางแต่อย่างใด YPAO-R.S.C. สามารถแม็ตชิ่งลำโพงได้หลากหลายแนว และแก้ไขปัญหาดุลเสียงจากสภาพแวดล้อมบางด้านได้ (YPAO-Flat) และด้วยมาตรฐานของ AVR ระดับราคานี้ คุณภาพเสียงย่อมรองรับการใช้งานได้ทั้งชมภาพยนตร์ และฟังเพลงอย่างไม่เคอะเขิน
– Network AVR ที่รองรับวิดีโอระบบ 4K เต็มตัว ไม่ว่าจะอัพสเกล หรือ Pass-through / ผลลัพธ์ที่ได้จากระบบ YPAO สามารถอ้างอิงได้ทั้งในส่วนของการตั้งค่าลำโพงและ Room EQ ซึ่งให้ผลลัพธ์ที่เที่ยงตรงขึ้นกว่าเดิม / รองรับการควบคุมด้วย Smart Devices ผ่าน AV Controller App จุดเด่นอยู่ที่ความสามารถในการสตรีมมิ่งเพลงจากอุปกรณ์ควบคุมนั้นไปยัง AVR ได้โดยตรง ส่วนการควบคุมแบบ Web Base Control ก็ยังมีอยู่ 
– อินพุตช่องต่อครบครัน ในปริมาณที่พอเพียง ให้ HDMI In/Out มากถึง 8/2 ช่อง เท่ารุ่นใหญ่ / ภาคขยายสามารถ Bi-amp ลำโพงคู่หน้าได้ / Dock Port ถูกตัดออกไป แต่ไม่น่าจะได้ใช้งานกันนัก
– น้องเล็กสุดในตระกูล AVENTAGE (ณ เวลานี้) ที่มีศักยภาพโดดเด่น แม้โครงสร้างคุณสมบัติบางอย่างของรุ่นใหญ่จะหายไป แต่ศักยภาพมิได้ลดน้อยถดถอยลงเลย กับราคาที่สบายกระเป๋ามากขึ้น เมื่อประเมินผลลัพธ์การใช้งานพบว่าให้ความคุ้มค่าโดดเด่นมากทีเดียว

by ชานม !
2012-11

ราคาตั้ง Yamaha RX-A820
32,900 บาท

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร
ส่วนการตลาดฝ่ายเครื่องเสียงเอวี – พีเอ
บริษัท สยามดนตรียามาฮ่า จำกัด
โทร. 02-2152626-39 ต่อ 1234, 1250