10 Jan 2012
Review

พลาสมาได้ใจ ให้เลย !!! รีวิว Samsung PS51E8000 3D Plasma TV [2012]


  • ชานม

3D Plasma TV Samsung PS-51E8000

พลาสมาได้ใจ “+1” ให้เลย !!!

ปัจจุบัน Plasma TV อาจจะเหลือตัวเลือกผู้ผลิตไม่มากราย คือ มีเพียง 3 ยี่ห้อหลักเท่านั้น แน่นอนว่าหนึ่งในนั้น คือ Samsung

กาลเวลาที่ผ่านมา น่าจะเป็นสิ่งยืนยันถึงศักยภาพของ Samsung ในการผลิตสร้างสรรค์ Plasma TV ที่มีคุณสมบัติโดดเด่นไม่แพ้ใคร สิ่งที่สามารถคาดหวังได้ มิใช่แค่เรื่องคุณภาพของภาพเท่านั้น แต่รูปลักษณ์ภายนอกยังเป็นปัจจัยหลักที่ผู้ผลิตรักษามาได้อย่างยาวนาน หากจะให้บอกรายชื่อรุ่น Plasma TV ในดวงใจจากช่วงเวลาที่ผ่านมา ย่อมมิอาจมองข้าม PS-51D8000 อันเป็นผลผลิตของรุ่นท็อปปี 2011 (อ่านบททดสอบได้ >>ที่นี่<<) ทั้งนี้เมื่อก้าวสู่ปี 2012 ทาง Samsung ได้นำเสนอ PS-51E8000 สู่ตลาด ต้องมาดูว่า จะคงคุณสมบัติอันโดดเด่นไว้ได้เช่นเดิมหรือไม่…

BrandSamsung
ModelPS-51E8000
Size51″
Native Resolution1920 x 1080
Panel TypeClear Panel
3D PlaybackYes
(Active Shutter Glasses)
2D to 3DYes
Video Processor3D HyperReal Engine
Frame Interpolation
DesignPlasma +1
HDMI3
USB3
Internet ConnectionWiFi Integrated, LAN
Internet & NetworkSamsung Smart TV Content / DLNA
Price69,990 .-

ดีไซน์

แนวทางการออกแบบรูปลักษณ์ของ PS-51E8000 ยังคงใช้พื้นฐานเดิม คือ Plasma +1 ซึ่ง Plasma +1 ในที่นี้ คืออะไร… รายละเอียดผมคงไม่ขอกล่าวซ้ำ แต่ท่านสามารถย้อนดูได้จาก >>รีวิว Samsung PS-51D8000<< ครับ

(ภาพประกอบ Plasma +1 นี้ เป็นทีวีรุ่น PS-51D8000)

ถึงแม้จะคงรูปลักษณ์ภายนอกไว้เช่นเดิม เรียกว่าเหมือนกันกับปีก่อน แต่ก็มีจุดต่างในรายละเอียดเล็กๆ บ้าง ที่เห็นชัดเจน ตัวอย่างเช่น สีของกรอบจอ ที่มาในโทน Titan Black (ในรุ่นที่แล้วเป็น Silver) ดังนั้นรุ่นใหม่จึงออกสไตล์ “ทะมึน เข้มขรึม” กว่า ทั้งนี้ดูเหมือนวัสดุกรอบจอจะเปลี่ยนไปด้วย ถ้าผมจำไม่ผิด คลับคล้ายคลับคลาเหมือนว่ารุ่นก่อนจะเป็นผิวโลหะจริง แต่รุ่นใหม่ไม่แน่ใจในเรื่องของชนิดวัสดุ แต่ผิวสัมผัสชั้นบนสุด คล้ายจะเป็นวัสดุสังเคราะห์ ทีมีเท็กเจอร์เหมือนกับ Hairline Aluminium (แต่ไม่ใช่ Hairline Aluminium ) ทว่าทำได้เนี้ยบทีเดียว ถ้าไม่สัมผัสคงไม่รู้สึกถึงความต่าง

ขาตั้ง 4 แฉก แบบ Quad ผิวเงาวับ ที่คุ้นเคยกันดีจากปีที่แล้ว
ปุ่มควบคุมจากรุ่นก่อน (PS-51D8000 ในปี 2011)

แม้ผู้ใช้ส่วนใหญ่จะเคยชินกับการควบคุมสั่งการทีวีผ่านรีโมตคอนโทรลมากกว่า แต่ปุ่มควบคุมที่ตัวทีวีถือว่ามีความจำเป็นในบางสถานการณ์ จุดนี้เป็นอีกจุดหนึ่งที่รุ่นใหม่ แตกต่างไปจากเดิมครับ… ในรุ่นก่อน (PS-51D8000) นั้น มีปุ่มควบคุมแบบสัมผัส ตรงขอบอะครีลิกส่วนล่างตามภาพ

แต่พอเป็นรุ่นใหม่ (PS-51E8000) ปุ่มระบบสัมผัสข้างต้น ได้หายไปหมดแล้ว… คงจะออกอาการมึนงงปนสงสัยกันเป็นแน่ว่า จะทำการเปลี่ยนช่อง หรือเพิ่มลดระดับวอลลุ่มที่ตัวทีวีได้อย่างไร?? ทั้งนี้ ทาง Samsung ได้ปรับเปลี่ยนแนวทางการออกแบบปุ่มควบคุมฟังก์ชั่นต่างๆ บนตัวทีวีใหม่หมด แทนที่จะแยกตำแหน่งแบบ ปุ่มนึงหนึ่งฟังก์ชั่น (แน่นอนว่าต้องมีหลายปุ่ม) ก็กลายเป็น “ปุ่มเดียวควบคุมได้ทั้งหมด” 

ปุ่มควบคุมหนึ่งเดียว ในรุ่นใหม่ PS-51E8000 (ปี 2012)

ปุ่มที่ว่า คือ ปุ่มเดียวกับสวิทช์เพาเวอร์นั่นเอง (ในรูป หากมองจากด้านหน้าทีวี ปุ่มนี้จะอยู่ใต้เซ็นเซอร์รีโมต IR โดยเยื้องไปด้านหลังของขอบอะครีลิกใส) กล่าวได้ว่าเป็น “ปุ่มควบคุมเพียงปุ่มเดียว” บนทีวี Samsung ซึ่งเป็นรูปแบบการผนวกรวมโครงสร้างปุ่มกดกับ “จอยสติ๊กขนาดเล็ก” เข้าไว้ด้วยกัน ปุ่มหนึ่งเดียวนี้ จึงทำหน้าที่ทุกอย่าง  คือ เป็นทั้งสวิทช์เพาเวอร์/สแตนบาย และปุ่มควบคุมฟังก์ชั่นพื้นฐานอื่นๆ ของทีวี เช่น เพิ่ม-ลดระดับวอลลุ่ม เปลี่ยนช่อง เลือกแหล่งโปรแกรม ฯลฯ

ถามว่าปุ่มเดียว จะทำหน้าที่ตั้งหลายอย่างได้อย่างไร? คำตอบ คือ เมื่อทีวีอยู่ในสถานะ Standby กดปุ่มนี้หนึ่งครั้งจะเป็นการเปิดเครื่อง กดอีกหนึ่งครั้งจะมีเมนูปรากฏขึ้นที่จอภาพ (ดังรูป) เสร็จแล้วให้ทำการ “โยก” แบบจอยสติ๊ก 4 ทิศทาง เพื่อเลื่อนตำแหน่งเคอร์เซอร์ และเมื่อ “กด” ก็จะเป็นการเลือกฟังก์ชั่นนั่นเอง… แม้วิธีการจะดูหลายขั้นตอนนิดหน่อย แต่มิได้ซับซ้อนอะไร ที่สำคัญ คือ แหวกแนวดีนะเออ

พลาสมาทีวีระดับท็อปเสียอย่าง ย่อมต้องบิลท์อินกล้องเว็บแคมมาให้อยู่แล้ว ตำแหน่งอยู่บริเวณกึ่งกลางส่วนบนของจอภาพเช่นเคย ซึ่งกล้องนี้ ถือเป็นส่วนสำคัญเพื่อใช้งานร่วมกับหนึ่งในแนวคิด Smart Interaction เพื่อควบคุม Samsung Smart TV ด้วย “ท่าทาง” อันเป็นฟีเจอร์ที่ทาง Samsung เน้นเป็นพิเศษในปีนี้ (รายละเอียดจะกล่าวถึงในช่วงถัดๆ ไป)

ในส่วนของลักษณะติดตั้งกล้องนี้ จุดที่แตกต่างจาก LED TV คือ ด้วยพื้นที่กรอบจอที่มากกว่า แม้ดูว่า Plasma TV กรอบหนา (ซึ่งตรงข้ามกับแนวทางไร้ขอบ OneDesign ของ LED TV) แต่ก็ช่วยให้การฝังกล้องเข้ากับพลาสมาทีวีทำได้กลมกลืนและลงตัว คือ ไม่ต้องทำเป็นติ่งยื่นแบบแอลอีดีทีวี (เช่น ES8000 Series)

และจุดต่างอีกประการ คือ ตำแหน่งเซ็นเซอร์รีโมต IR ที่วางตำแหน่งใกล้กับสวิทช์เพาเวอร์ที่มุมซ้ายล่าง (เช่นเดียวกับดีไซน์ของปีที่แล้ว) ในขณะที่ LED TV จะวางเซ็นเซอร์รีโมต IR ไว้ข้างกล้อง (ด้านบน) เวลาทดสอบใช้งาน 2 ตัวนี้เทียบกัน เลยงงๆ เล็กน้อย อันหนึ่่งต้องชี้รีโมตขึ้น อีกอันชี้รีโมตลง?? 

ด้านหลัง สามารถปรับตำแหน่งมุมก้มเงยของกล้องได้
ด้านหลังแบบเต็มๆ จุดเชื่อมต่อต่างๆ ถูกจัดว่างไว้ฝั่งขวา ใกล้กันจะเห็นตำแหน่งที่ใช้ในการเปลี่ยนโมดูล Smart Evolution Kit (มีสติกเกอร์สีดำปิดทับอยู่) อันเป็นแนวทางเพื่อการอัพเกรดศักยภาพของทีวี Samsung ในอนาคต ขั้วปลั๊กไฟเป็นมาตรฐาน IEC สามารถถอดเปลี่ยนไปใช้สายไฟคุณภาพสูงได้